วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

VTR สิงห์คู่ เบญจมฯ จันท์


VTR สิงห์คู่ เบญจมฯ จันท์





ผู้ให้สัมภาษณ์ นายวิศรุต จีระสมบูรณ์ยิ่ง

ติดตามชมได้ที่  http://www.youtube.com/watch?v=LQFM5Hlw380&feature=youtu.be




สิงห์คู่ เบญจมฯ จันท์


สิงห์คู่ เบญจมฯ

          เนื่องจากทุกวันที่ 6 กันยายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันกำเนิดโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี 1 ใน 5 โรงเรียนชายประจำ 5 มณฑลที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าหลวง โดย วันที่ 6 กันยายน 2554 เป็นวันคล้ายวันกำเนิดโรงเรียน 100 ปี ตามที่ได้นำเสนอให้ทราบฉบับที่ผ่านมา “91 ปี ศรียานุสรณ์ 100 ปี เบญจมราชูทิศ”  ได้ทำพิธีเปิดอาคารเรียนหลังแรกเป็นเรือนปั้นหยาชั้นเดียว หน้าอาคารปรากฏสิงห์ศิลาคู่ และสิงห์ศิลาคู่นี้ได้กลายเป็นเอกลักษณ์เคียงคู่ศิษย์เก่าชาวฟ้าเหลืองรุ่นแล้วรุ่นเล่าจวบจนปัจจุบัน โดย พระยาตรังคภูมาภิบาล (ถนอม บุณยะเกตุ) กล่าวเปิดนามโรงเรียน เมื่อวันที่ 22  ตุลาคม พ.ศ.2456 แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า  สิงห์ศิลาคู่ 100 ปีเบญจมราชูทิศ ศิลปกรรมแบบนครวัต เป็นศิลปกรรมเขมรองค์ประกอบของปราสาทขอมที่ประดิษฐ์ขึ้นระหว่างปี พ.ศ.1650 - 1720  ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้แล้วนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร  และทำไมจึงมาปรากฏกายพร้อมกับชิ้นส่วนปราสาทขอมอีกหลายชิ้น ณ สถาบันแห่งนี้และบริเวณใกล้เคียง เช่น วัดกลาง วัดโบสถ์เมืองจันทบุรี วัดหน้าพระธาตุ (ร้าง) ภายในวิทยาลัยสารพัดช่างจันทบุรี  เป็นต้น ปัจจุบันสิงห์ศิลาคู่นี้ได้จัดวางไว้บริเวณหน้าเสาธง ร.ร.เบญจมราชูทิศ  ถือเป็นเอกลักษณ์ประจำสถาบัน ซึ่งศิษย์เก่ารู้จักเป็นอย่างดี แต่ท่านรู้จักจริงหรือ ?

  ตามที่ข้าพเจ้าได้เคยนำเสนอเรื่องราว ของอาณาจักรเมืองเก่าจันทบูร สมัยขอมเรืองอำนาจที่เมืองเพนียดหรือเมืองพระนางกาไว ใกล้วัดทองทั่ว ต.คลองนารายณ์ อ.เมือง จ.จันทบุรี ซึ่งกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้แล้ว เป็นกำแพงศิลาแลงสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบเป็นสระน้ำหรือบาราย กว้าง 17  เมตร ยาว 57 เมตร หนา 3  เมตร บริเวณโดยรอบเป็นปราสาทที่ชาวบ้านบุกรุกทำลายกลายเป็นสวนผลไม้ ยังคงเหลือไว้ซึ่งโบราณวัตถุจำนวนหลายชิ้น ที่ขุดพบโดยทั่วไป  และบริเวณหมู่บ้านเพนียด ใกล้วัดเพนียด (ร้าง)  ปัจจุบันเก็บรักษาไว้  ณ  พิพิธภัณฑ์วัดทองทั่ว เช่น  ทับหลัง 3 ชิ้น 3 สมัย กรอบประตูแปดเหลี่ยม ศิลางาช้าง จำหลักนูน สิงห์ทวารบาลลักษณะเดียวกับที่พบ ณ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ และชิ้นส่วนที่พบ ณ วัดกลาง วัดสระบาป วัดโบสถ์เมืองจันทบุรี  วัดเขาพลอยแหวน และวัดบนบ่อพุ อ.ท่าใหม่ ชิ้นส่วนปราสาทศิลาแลงและศิลาทรายเหล่านี้ทำไม จึงปรากฏอยู่ทั่วไปในจังหวัดจันทบุรี แสดงให้เห็นว่าต้องมีการเคลื่อนย้ายองค์ประกอบของปราสาทเมืองเพนียด หลวงสาครคชเขตต์ (ป.สาคริกานนท์)  เขียนหนังสือจดหมายเหตุ ความทรงจำสมัยฝรั่งเศสและญวนยึดจันทบุรี เมื่อ พ. ศ.2481  หน้า 534 - 535 ได้กล่าวถึง ศิลาที่ขุดได้ที่เมืองเพนียด เก็บรักษาไว้ที่วัดทองทั่ว และศิลาที่รักษาอยู่ในโรงเรียนเบญจมราชูทิศ  สลักรูปลวดลายลักษณะต่าง ๆ  เป็นต้นว่า ราหูอมจันทร์บ้าง เป็นเทวรูปหรือปรสุราม (รามสูรย์) บ้าง เป็นตัวสิงห์บ้าง เป็นแท่นคล้ายธรณีประตูบ้าง

       นายอเนก บุญภักดี ได้เขียนไว้ในบันทึกการศึกษาเรื่อง เมืองจันทบุรี พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพ นายปัญญา เอครพานิช 6  ธันวาคม 2512  หน้า 35 ว่า “ในสมัยเมื่อข้าพเจ้าเรียนหนังสืออยู่ที่ โรงเรียนประจำ จ.จันทบุรี เบญจมราชูทิศ (พ.ศ.2468 - 3475) ที่ปลายถนนหน้าโรงเรียนหลังใหญ่ ซึ่งขณะนี้รื้อไปหมดแล้ว ด้านตะวันตกมีแผ่นศิลาสลักเป็นรูปปรสุราม  หรือจะเป็นรูปอะไรก็ไม่ทราบแน่ แต่มีลักษณะเป็นหัวนกอ้าปาก  เรามักจะเรียกว่า หัวนางกาไว  นอกนั้นก็มีเป็นเจดีย์หิน โดยเอาหินเป็นก้อนกลมๆมาประกบกัน ยอดไม่ใช่ยอดแบบพระเจดีย์ไทยแต่เป็นแบบคล้ายๆ  กับแบบเจดีย์จีนมากกว่า ที่ด้านข้างมีจารึกอักษรไทยอยู่ด้วย เคยพยายามอ่าน และจดไว้  แต่หาไม่พบเพราะนานมาแล้ว ต่อมาเมื่อรื้อตัวโรงเรียนเดิมย้ายมาสร้างใหม่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน ศิลากองนี้ถูกเลื่อนไปไว้ที่โรงเรียนการช่าง ในบริเวณโรงเรียนเบญจมราชูทิศนั่นเอง แต่ปัจจุบันนี้จะไปอยู่ที่ใดก็ไม่ทราบ สืบหาทั้งที่จังหวัดและกรมศิลปากร ก็ยังไม่ได้ความว่าอยู่ที่ใด

ภาพเก่าในอดีตเหล่านี้นี่เอง  การตามรอยสิงห์ศิลาคู่หรือสิงห์ทวารบาลศิลปกรรมนครวัตจึงเริ่มขึ้น สรุปความได้ว่า เมื่อ  ร.ศ.112 - 123 (พ.ศ.2436 - 2477)  ฝรั่งเศสเกณฑ์ญวนเข้ายึดครองจันทบุรี ชั่วคราวเพื่อต่อรองแลกเปลี่ยนดินแดน ระหว่างที่ถอนกำลังไปยึดตราดอีก 3 ปี ได้มีการก่อสร้างศาสนสถานไว้ริมแม่น้ำจันทบุรี  ในเขต ต.พุงทะลาย (จันทนิมิต)  เพราะวัดเดิมพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมขังทุกปี วัดที่ก่อสร้างขึ้นใหม่นี้ต้องใช้ฐานรากที่แน่นหนา ฝรั่งเศสจึงว่าจ้างชาวทองทั่ว ขนชิ้นส่วนปราสาทและกำแพงเมือง บรรทุกเกวียนมาตามถนนศาลาแดง นำถมเป็นพื้นของวิหาร ศิลาทรายสลักบางชิ้นที่สวยงามปะปนมากับศิลาแลงสี่เหลี่ยมด้วย ชาวบ้านบางส่วนเห็นว่า ถ้านำไปถมลงดินจะหมดคุณค่า จึงวิ่งเกวียนหลบฝรั่งเศส ข้ามสะพานวัดจันทนารามซึ่งเป็นสะพานชั่วคราว กลิ้งทิ้งหลบไว้ในป่าช้าหลังวัดกลาง (ร้าง)  ต่อมาป่าช้าผืนนี้ได้แปรสภาพเป็นโรงเรียนเบญจมราชูทิศ   ชิ้นส่วนศิลาสลักจำนวนมาก รวมถึงสิงห์ทวารบาลที่กล่าวถึง  จึงปรากฏให้เห็นเคียงคู่อาคารหลังแรก จนถึงปัจจุบัน  

  จากวันนั้นจนถึงวันนี้ 100  ปี  โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี 6  กันยายน ของทุกปี โรงเรียนจึงกำหนดเป็นวันกำเนิดโรงเรียน จัดกิจกรรมย้อนรำลึกพระมหากรุณาธิคุณพระพุทธเจ้าหลวง และพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว สืบสานตำนานสิงห์ทวารบาล โบราณวัตถุล้ำค่าที่ชาวฟ้าเหลืองทุกคนพานพบจวบจนปัจจุบันนี้.